ผมรักในหลวงที่สุดในโลก

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โรงเรียนพ่อแม่ อีกหนึ่งบริการที่ดีของชุมชน

โรงเรียนพ่อแม่ 
คลินิกฝากครรภ์

ทำไมต้องมีโรงเรียนพ่อแม่
             เด็ก วัย 0-5 ปี อยู่ในระยะสำคัญของชีวิต เป็นวัยรากฐานของการพัฒนาความเจริญเติบโต ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา   โดยเฉพาะด้านสมอง ซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ เป็นวัยที่มีความสำคัญเหมาะสมที่สุด ในการปูพื้นฐานเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกเหนือจากการอยู่รอดปลอดภัย โดยเฉพาะ 2 ปีแรกของชีวิตซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายและสมองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ดีที่สุดทั้งด้านร่างกายและสมอง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาได้เต็มศักยภาพ หากเด็กในวัยนี้ได้รับการดูแลให้เกิดการพัฒนาทางด้านจิตใจ ความคิด และสติปัญญาอย่างถูกต้อง โดยมีครอบครัวเป็นหลักเหมาะสมกับวัยแล้ว เด็กจะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติต่อไป
ความหมายของโรงเรียนพ่อแม่
            โรงเรียน พ่อแม่หมายถึง บริการท่จัดขึ้นสำหรับการให้ความรู้พ่อแม่ ดำเนินการในสถานที่จัดไว้ให้เป็นสัดส่วน อาจอยู่ในอาคารหรือนอกอาคารของสถานบริการสาธารณสุข มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการสอนพ่อแม่ สงบเงียบ ไม่มีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเดินผ่านไปรบกวนให้ขาดสมาธิ แสงสว่างเพียงพอ มีบรรยากาศการให้ความรู้ที่เป็นกันเอง มีกระบวนการสอนที่ผู้รับอบรมมีส่วนร่วมที่มุ่งเน้นเพื่อให้พ่อแม่มีความรู้ เจตคติ และทักษะในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยมีหลักสูตร สื่อ แผนการสอนที่ชัดเจนในทิศทางเดียวกัน เพื่อมุ่งหวังให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยทั้งร่างกายและอารมณ์
แนวทางการสอนของโรงเรียนพ่อแม่    
            การสอนในโรงเรียนพ่อแม่มุ่งให้ความรู้แก่พ่อแม่ ใน 3 ระยะ
             1.ระยะแม่ตั้งครรภ์ การ ให้ความรู้แก่พ่อแม่อย่างน้อยสองครั้ง คือครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ ในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ และครั้งที่สอง เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไปหรือระยะใกล้คลอด
             2.ระยะหลังคลอด 1-3วัน การให้ความรู้ขณะที่แม่หลังคลอดยังพักฟื้นภายในโรงพยาบาล โดยนำพ่อเข้าร่วมรับความรู้ด้วย
             3.ระยะที่พ่อแม่นำเด็กมารับบริการที่คลินิคสุขภาพเด็กด ระยะเวลาที่ให้ความรู้
                  ครั้งที่1 ช่วงเด็กอายุ 2-4 เดือน
                  ครั้งที่ 2 ช่วงเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี
                  ครั้งที่ 3 ช่วงอายุ 1-2 ปี
                             ครั้งที่ 4 ช่วงอายุ 3 ปีขึ้นไป




โรงเรียนพ่อแม่ อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่คนสังคมเมือง ต้องหันมามองสังคมชนบทในปัจจุบัน
ได้มีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่ของโรงพยาบาลอำเภอนาหม่อม เริ่มจากการตรวจครรภ์ ซึ่งตอนแรกก็ต้องแปลกใจที่ให้ไปตรวจเบื้องต้นที่อนามัยหมู่บ้าน ความรู้สึกไม่ดีก็เกิดขึ้นเพราะเข้าใจว่าอนามัยไม่มีความสามารถพอที่จะรองรับเรื่องการดูแลคนท้องได้ ในความรู้สึกว่าถ้าตั้งท้องแล้วจะต้องโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้นที่จะดูแลเรื่องนี้ได้  และสุดท้ายเมื่อมาพบเจ้าหน้าที่ตั้งแต่อนามัยจนถึงโรงพยาบาลนาหม่อมก็ได้รับความประทับใจ เพราะเจ้าหน้าที่เขาอธิบายแนวทางในการดูแลผู้ตั้งท้องดีกว่าฝากพิเศษเสียอีก อย่างน้อยโครงการโรงเรียนพ่อแม่ คลินิกฝากครรภ์ ของกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน อาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องประชาสัมพันธ์กันอีกมาก เพราะความเชื่อเก่าๆที่คนเราจะมีลูกทั้งทีจะต้องไปฝากครรภ์กับโรงพยาบาลดีๆ ดังๆ หมอเก่งๆมีชื่อเสียง แต่ที่สัมผัสมา ก็เหมือนกับหลายๆท่าน คือไปฝากปุ๊มอัตตร้าซาวบั้บ ได้ฟิมล์มาเห็นรูปทารกตัวน้อยๆ พร้อมใบสั่งยาแล้วประโยคง่ายๆว่า “ลูกคุณแข็งแรงดีครับ แล้วเดือนหน้าก็มาตามนัดน่ะครับ สวัสดี”
แค่นี้ก็เป็นปลื้มสำหรับคนเป็นแม่แล้ว ตลอดระยะเวลาการฝากท้องก็ไม่ได้มีการให้ความรู้แบบรอบด้าน เพียงแต่มุ่งไปในด้านการดูแลเด็กในท้องและร่างกายแม่เพียงด้านเดียว เรียกว่าใช้สถิติการเจริญเติบโตของลูกในท้องมาเป็นเครื่องมือให้เกิดความน่าเชื่อถือมากกว่า ประกอบกับสถานที่สวยหรู เครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัยยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจเข้าไปอีก นั่นคือความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองในปัจจุบัน
            กลับมาสู่เรื่องโรงเรียนพ่อแม่ดีกว่า วันนี้ขอเป็นกระบอกเสียงอีกหนึ่งแรง และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลนาหม่อม เริ่มจากพี่ รัชนี จันทร์รอด(ป้าดุ้ย) ผู้อธิบายและแนะนำให้รู้จักกับโรงเรียนพ่อแม่ พี่นวลรัตน์ นาคะเสณีย์ งานสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์ ที่ให้แนวคิดและแนวทางตลอดจนเป็นที่ปรึกษาสำหรับพ่อแม่มือใหม่ หรือมือเก่า ก็น่าจะไปฟังพี่เขาดูบ้าง เสียดายที่พี่เอกวางมือจากผู้ทำสื่อไปจับมีดกรีดยางเลยเตรียมอุปกรณ์ในการบันทึกไปไม่พร้อม ถ้าพร้อมมากกว่านี้คงมีสะเก็ดข่าวแน่ๆ ตอนปะทะคารมระหว่างพ่อที่ทั้งสูบบุหรี่และดื่มเหล้า มีลูกแล้วแต่ก็ไม่คิดจะเลิก ต่อมาพี่อัญชลี โพธิวัฒ มาสอนเรื่องการดูแลสุขภาพในช่องปากทั้งแม่และลูก สอนทั้งวิธีแปรงวิธีจับลูกทั้งแบบสองคนช่วยกัน หรือแบบคนเดียวก็ได้ก็นับว่านานแล้วที่ไม่ได้เห็นภาพแบบนี้ ต่อไปก็คือน้องณัฐิยา สุวรรณมณี มาสอนและสาธิตวิธีออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ และพี่ประไพ สุวรรณสุนทร เรื่องการเตรียมตัวก่อนคลอดบุตร สุดท้ายสรุปงานโดยพี่ภัณฑิรา  โมสิกะ ผู้รับผิดชอบงานแม่และเด็กระดับอำเภอ ที่มาสังเกตการณ์และร่วมชี้แนะยกประเด็นในการพูดคุยในบรรยากาศเป็นกันเอง ต้องยอมรับว่าโครงการนี้ดีจริงๆ ดีจนต้องเชิญชวนไปยังคุณแม่ในสังคมเมือง ที่ต้องนั่งรอคิวเป็นครึ่งวันเพื่อการฝากท้องในโรงพยาบาลดีๆ ดังๆ แล้วไม่ได้รับการแนะนำตลอดจนการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร 
   สุดท้ายพี่เอกฝากบอกมาว่าเสียดายคุณพ่อที่ไม่ได้ไปร่วมรับการอบรม เพราะติดกับปัญหาของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท ลูกจ้างชั้นแรงงานที่ไม่สามารถลางานไปได้ มันมีเรื่องที่น่าสะเทือนใจมากกว่านี้อีกสำหรับคนทำงาน ที่ไม่ค่อยจะมีเวลา แม้บ้างครั้งการลางานเพื่อเคารพศพพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาตลอดชีวิตแทบไม่มีเลยเพราะต้องทำงาน จึงขอฝากไปยังเจ้าหน้าที่ในภาครัฐที่มีอำนาจ จะเป็นไปได้ไหมที่ออกข้อกำหนดหรือให้สิทธิ ในการลาหยุดงานได้ซักครึ่งวันเพื่อมีเวลามารับรู้ข้อมูล แนวคิดแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว มันนานมาแล้วน่ะสำหรับคำพูดที่ติดปากว่า ครอบครัวคือสถาบันแรกและเป็นสถาบันหลักที่จะทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง  
ในทางปฏิบัติจริงแม้แค่เวลาเพียงครึ่งวันเพื่อให้ผู้ชายคนหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่ง และประชากรที่จะเกิดมาเป็นลูกหลานไทยในท้องอีกหนึ่ง อยู่ร่วมกันในนาม “ครอบครัว”
สวัสดี