ผมรักในหลวงที่สุดในโลก

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

ฉันทามติ คือ ภารกิจที่ยิ่งใหญ่



สวัสดีปีใหม่ทุกๆท่านครับ ผมเริ่มศักราชใหม่ด้วยวัย 40 ปีเต็ม ด้วยภารกิจที่ยิ่งใหญ่สำหรับตัวเองอีกครั้ง หลังจากเคยประสบความสำเร็จและสูงสุดในหลายๆด้าน แต่ขาดสิ่งเดียวคือ “ความยั่งยืน” กลับไปทบทวนตนเองถึงอดีตที่ผ่านมาเป็นการใช้ชีวิตส่วนตัวได้เกินคุ้มจริงๆ อยากกินได้กิน อยากเที่ยวได้เที่ยว อยากมีได้มี ก็ถือว่าสำเร็จไปส่วนหนึ่ง

                แล้วจุดเปลี่ยนชีวิตเมื่อ 4 ปีที่แล้วก็เกิดขึ้นจากความสำนึกต่อพ่อแม่และลูกตนเอง หนึ่งคือบวชแทนคุณพ่อแม่ สองคือเปลี่ยนแนวชีวิตบนพื้นฐานของการกลับมาเดินนับหนึ่งใหม่ เพื่อเป็นทางที่มี “ความยั่งยืน” บนถนนสายเศรษฐกิจพอเพียง 

                ย้อนคิดไปถึงอดีตว่า 28 ปี แห่งการทำงานหาเงิน  ไม่ผิดหรอกครับ 28 ปี เพราะผมทำงานครั้งแรกตอนเรียน ป.6 พ่อแม่ จะควันอ้อย หั่นมะละกอ ใส่ถุงให้ไปขาย เงินที่ได้มาเก็บเอาเอง พ่อแม่ไม่เกี่ยว ถุงที่ใส่แม่ก็ออกเงินซื้อให้ไม่หักสักบาทเดียว ขายถุงละ 2 บาท วันหนึ่งก็ 20 กว่าถุง ของที่ขายก็ของในบ้านตัวเอง พ่อปลูกเอาไว้ “กินเหลือจึงขาย” นั้นคือความรู้ที่พ่อแม่ปลูกไว้ให้ หลังจากนั้นก็ทำงานมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เด็กเสริฟ  คนงานก่อสร้าง รับเหมาไฟ ลูกจ้าง พนักงานบริษัท คนส่งของ เซลแมน ซ่อมคอมพิวเตอร์  ผู้จัดการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ


ทั้งหมดที่กล่าวมาเพื่อหาเงินไว้ใช้ ไว้กิน ไว้เที่ยว ดีที่สร้างของไว้บางเล็กๆน้อยๆ  แล้วชีวิตก็ต้องถึงจุดเปลี่ยน เปลี่ยนด้วยการมองหา “ความยั่งยืน” มิใช่เพราะตนเอง แต่เพื่อลูกๆทั้งสอง เพราะโดยส่วนตัวจะไปไหนก็ได้ อยู่ไหนก็ได้แต่การใช้ต้นทุนตัวเองเพื่อตัวเองมันไม่ถูกเพราะอนาคตของลูกๆต้องมองเห็น พรรคพวกมีมากแต่เพื่อนมีน้อย เห็นใจกันจริงๆ ตอนทิ้งธุรกิจออกมา หลายคนนึกว่าเราหมดสิ้นเนื้อประดาตัวก็ออกห่างเราไป ที่เห็นใจก็เข้ามาช่วยเหลืออยู่บ่อยๆ

                ตัดสินใจล้างไพ่ใหม่ด้วยการบวชเข้าพรรษา จึงได้เห็นสัจธรรมบ้างประการที่ต้องการศึกษา สุดท้ายได้แค่การไม่เห็นตัวตน เกิดจากสูญไปก็สูญ เหลือทิ้งไว้แค่ความชั่วดีให้ลูกหลานนึกถึงบ้างก็เท่านั้นเอง แม้การบวชในครั้งนั้นจะมีอะไรๆ ตามมามากมายในเรื่องเงื่อนไขของการเวลาบวกบุญที่ได้ทำมา ไม่ขอกล่าวในรายละเอียดเพราะเป็นเรื่องความเชื่อ การสัมผัสได้ด้วยตนเองเท่านั้น



จากสูญสู่สูงสุดอีกครั้ง ด้วยสองหน้าที่ คือ ประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลทุ่งขมิ้น และ ประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอนาหม่อม โดยมีฐานะเป็นตัวแทนของจังหวัดสงขลาในคณะกรรมการที่ประชุมระดับชาติ ของสภาองค์กรชุมชน ตำบล ตาม พรบ.สภาองค์กรชุมชน 2551 ถามตัวเองแล้วว่าได้มาอย่างไร ?

                ตอบคือได้มาเพราะ “ร่มบุญของปรัชญาเศรษฐกิจพอพียง” จาก ปีแรกที่หลายๆคนดูถูกเหยียดหยาม แต่พอสิ่งที่ทำออกดอกออกผล หลายๆคนเหล่านั้นจึงเข้าใจ มิหนำซ้ำยังตามมาส่งเสริม ก็ขอพรแห่งบารมีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นทางรอดบน “ความยั่งยืน”จงมีแด่ทุกคนทุกท่านเช่นเดียวกัน แม้วันนี้ทำได้แค่ มีอยู่ มีกิน ยังไม่พอเก็บ แต่พอแจกจ่าย ให้ทานได้บ้าง 


จากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ต้องคิดและทบทวนตนเองอยู่เสมอ “เดินที่ละก้าว กินข้าวที่ละคำ ทำที่ละอย่าง”  เป็นขั้นเป็นตอน หากแต่ต้องพิจารณาโดยท่องแท้ดูบาง และการพิจารณาก็มิใช่ตัวเองคิดคนเดียว การทำงานส่วนรวม ต้องถามส่วนรวม “หน้าที่ประธาน” จึงเป็นแค่การอำนวยการ การรับใช้ การบริการผู้อื่น มิ ใช่ความคิดตัวตนเป็นใหญ่ หากแต่ทำอย่างไรให้ประโยชน์สูงสุดไปอยู่ที่ส่วนรวมได้ ซึ่งเหล่านี้มีคาถากำกับอยู่ แต่ต้องแม่นคาถาและต้องยึดมั่นไว้เสมอ เป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร ถ้าโชคดีวันเวลาและบุญมาพบกันก็รอดไป



ฉันทามติที่ได้รับมาจึงเป็นเรื่องใหญ่เอาการ การเป็น “ผู้นำที่ต้องเป็นผู้รับใช้” อุดมการณ์จะรักษาได้หรือไม่ พ่อแก้วแม่แก้วเอ่ยให้พรลูกด้วย